Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ESG Knowledge



ในแวดวงตลาดทุนโลก ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้รับการขานรับจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากการสำรวจของหน่วยงาน Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ข้อมูล ESG ผนวกในการวิเคราะห์ (ESG Integration) มีเม็ดเงินสูงถึง 17.54 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2559


ขณะที่ ตัวเลขการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลก มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นจาก 22.89 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 มาอยู่ที่ 30.68 ล้านล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในช่วงเวลา 2 ปี โดยการลงทุนในหมวดนี้ คิดเป็นร้อยละ 33 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 3 เหรียญ จะมีอยู่ราว 1 เหรียญ ที่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืน *


เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมผู้ลงทุนไทย ต่อรูปแบบการลงทุนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Investing ที่กำลังเดินทางเข้าสู่โหมดการลงทุนกระแสหลัก (Mainstream) สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนางานด้านการให้ความรู้ ผ่านบริการใหม่ ภายใต้ชื่อ ESG Knowledge โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ไปยังสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ บริษัทจดทะเบียน ที่มีความจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุน ในหลักสูตร ESG Disclosure Program กับบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่ต้องการจัดทำบทวิเคราะห์ข้อมูล ESG ให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ในหลักสูตร ESG Analysis Program


--------------------------------------
* 7 รูปแบบการลงทุนที่ยั่งยืน ตามการจำแนกของ GSIA ประกอบด้วย
Negative/Exclusionary Screening: การคัดกรองการลงทุน โดยไม่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในการคัดหลักทรัพย์ออกจากการพิจารณาลงทุน
ESG Integration: การผนวกการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างชัดแจ้งในกระบวนการตัดสินใจลงทุน
Corporate engagement and shareholder action: การใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นในการแทรกแซงบทบาทของกิจการ ผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (อาทิ ติดต่อสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูง และ/หรือคณะกรรมการบริษัท) การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้น (อาทิ การเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และ/หรือ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริษัท) รวมถึงการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่เป็นไปตามแนวทาง ESG โดยรวม
Norms-based Screening: การคัดกรองการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ด้านมาตรฐานระหว่างประเทศหรือบรรทัดฐานสากล อาทิ OECD, ILO, UN, UNICEF ฯลฯ ในการคัดสินทรัพย์ที่จะเลือกลงทุนหรือไม่เลือกลงทุน รวมถึงการเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุน
Positive/Best-in-class Screening: การคัดกรองการลงทุนในอุตสาหกรรม ในบริษัท หรือในโครงการ ที่เลือกจากยูนิเวอร์สของหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เทียบกับหลักทรัพย์อื่นในกลุ่ม
Sustainability-themed Investing: การลงทุนที่ให้น้ำหนักกับประเด็นความยั่งยืนต่อสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานทดแทน เทคโนโลยีสะอาด เกษตรกรรม น้ำ อาหาร ฯลฯ โดยอาจพิจารณาเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะหรือในหลายประเด็นร่วมกัน
Impact/Community Investing: การลงทุนมุ่งผลกระทบ มักเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่นอกตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในระดับชุมชน ที่เม็ดเงินจะถูกกระจายไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน หรือไปยังธุรกิจที่มีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน