Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

Thaipat Venture


ตลอดการดำเนินงานของสถาบันไทยพัฒน์ในห้วงเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งจวบจนปัจจุบัน ได้ใช้แนวทาง “การร่วมมือกัน” ทั้งที่เป็นการริเริ่มโครงการและกิจกรรมให้แก่หน่วยงานอื่นได้เข้ามีส่วนร่วม และการเข้ามีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องมือจากการคิดขึ้นใหม่ ต่อยอดขยายผลความสำเร็จในแต่ละโครงการ ให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมได้อย่างเต็มที่

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ก่อตั้ง บริษัท ร่วมทุนไทยพัฒน์ ขึ้นในปี 2554 สำหรับใช้เป็นอีกหนึ่งกลไกในการทำงานตามแนวทางการร่วมมือกันในรูปของการระดมทุน การร่วมลงทุน และการจัดตั้งกองทุน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ของสถาบันไทยพัฒน์


Strategic Philanthropy


การให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR ที่ผ่านมา มักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ ซึ่งถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยอาศัยการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของโดยลำพัง อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา หรืออาจกลายเป็นความสัมพันธ์ในทางลบ หากการให้นั้นจำต้องยุติลงในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

ความจำเป็นในการหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความยั่งยืนจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนอกกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process) และสำหรับหน่วยงานรัฐ มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ต้องการสร้างคุณค่าให้สังคมได้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการส่งมอบผลประโยชน์นั้น เพราะหากต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่สังคมได้รับจะติดลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมายพลอยเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Philanthropy โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน การให้ที่เน้นปัจจัยเพื่อการผลิต มิใช่ปัจจัยเพื่อการบริโภค และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย


Philanthropic Investments


การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ Philanthropy ที่เป็นการให้เปล่า มีข้อจำกัดตรงที่ องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และเมื่อเงินบริจาคก้อนดังกล่าว ถูกใช้หมดไป ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ได้รับความช่วยเหลือ จำต้องขวนขวายหาทุนหรือทรัพยากรมาเติมในโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล แต่หากการเติมทุนหรือเงินบริจาคก้อนใหม่ไม่เกิดขึ้น โครงการหรือภารกิจดังกล่าว อาจต้องระงับหรือหยุดชะงักไปโดยปริยาย


แนวคิดของการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการลงทุนที่นำดอกผลมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือ "Philanthropic Investments" ที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า "การลงทุนสุนทาน" ซึ่งเป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ สามารถใช้ขจัดหรือลดทอนอุปสรรคหรือข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบการให้เปล่าหรือที่ต้องสูญเงินต้น มาสู่ Philanthropic Investments ในแบบการลงทุนหรือใช้ดอกผลจากเงินต้นที่นำไปลงทุนโดยไม่สูญเสียเงินต้น จะเป็นทางเลือกให้กับทั้งองค์กรธุรกิจในภาคเอกชน และองค์กรมูลนิธิในภาคประชาสังคม วางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง จนโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่ต้องการยกระดับจาก Philanthropy ในรูปแบบเดิม มาสู่ Strategic Philanthropy และ Philanthropic Investments สามารถติดต่อขอรับข้อมูลและคำแนะนำได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โครงการลงทุนสุนทาน