Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ความเป็นมา


จุดกำเนิดของสถาบันไทยพัฒน์มาจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลในวงธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่งที่ต้องการค้นหาวิธีในการดำเนินธุรกิจโดยไม่ขึ้นกับเงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งมีการแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize Profit) เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากกาลเวลาที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า การได้มาซึ่งกำไรสูงสุดขององค์กรธุรกิจโดยไม่คำนึงวิธีการว่าจะทำลายวิถีที่ดีงามของสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำลายคุณค่าทางด้านจิตใจหรือไม่นั้น ได้กลับกลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของสังคม ซึ่งต้องมีหน่วยงานทางสังคมไม่แห่งใดก็แห่งหนึ่ง เข้าแบกรับภาระในการรักษาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยมากมักจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งก็หนีไม่พ้นการใช้ภาษีของประชาชน มาชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งที่มิใช่ผู้ก่อเหตุแห่งปัญหานั้น

จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและด้านจิตใจที่ต้องการระงับต้นเหตุแห่งปัญหา มากกว่าการรักษาเยียวยาหลังจากที่ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งชมรมไทยพัฒน์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 ด้วยการริเริ่มพัฒนา “ธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ และได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพมาเป็นสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 โดยได้เพิ่มภารกิจในการขับเคลื่อน “เครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย” (Thai CSR Network) ขึ้นอีกบทบาทหนึ่ง ถัดจากนั้นได้เข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 เพื่อขยายการปฏิบัติงานมาสู่ภาคชุมชนและภาคครัวเรือน ตามลำดับ

ด้วยทรัพยากรของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ประกอบด้วยบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถทางด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ จึงได้นำมาผสมผสานให้เข้ากับแนวทางการดำเนินงาน ในลักษณะที่เรียกว่า “การเข้ามีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรม” (Contribution by Innovation) โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสถาบันไทยพัฒน์ จึงสะท้อนการดำเนินงานในแบบของการทำงานร่วมกัน ทั้งที่เป็นการริเริ่มโครงการและกิจกรรมให้แก่หน่วยงานอื่นได้เข้ามีส่วนร่วม และการเข้ามีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องมือจากการคิดขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลความสำเร็จในแต่ละโครงการ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่


มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บชท.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2510 โดยมี ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับบุคคลในวงราชการและธุรกิจเอกชนจำนวนหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมและประสานความคิด กำลังกาย กำลังใจ และทรัพยากร ทั้งของภาคราชการและภาคเอกชน บูรณะและพัฒนาให้ชาวชนบทไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เริ่มบุกเบิกงานในยุคแรกด้วยการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานที่มีองค์ประกอบในการพัฒนา 4 ประการ คือ พัฒนาอาชีพ พัฒนาการศึกษา พัฒนาสุขอนามัย และพัฒนาการพึ่งตนเองแบบร่วมมือกัน ตลอดจนการเป็นผู้นำด้านการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาชนบทและสังคม

การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมประชาชนในชนบทและประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ให้สามารถปรับปรุงฐานะและสภาพความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น มีวิธีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาชนบทและสังคมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการทำมาหากิน การศึกษา การอนามัย การรู้จักช่วยตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎมาประทับเหนือตราของมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534