Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ความริเริ่ม


ESG Sandbox
ในปี 2566 สถาบันไทยพัฒน์ จัดตั้ง ESG Sandbox เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มทำงานร่วมกับภาคเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศแห่งความยั่งยืน (Ecosystem of Sustainability) ด้วยการพัฒนาโครงการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดความพลิกผัน (Disruption) ด้านความยั่งยืนในอนาคต และเปิดโอกาสให้องค์กรที่เข้าร่วมสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการที่อยู่ใน Sandbox ก่อนองค์กรอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบที่เป็นองค์กรสมาชิก (Member) ผู้อุปถัมภ์ (Sponsor) และผู้ให้ทุน (Funder) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามระดับ ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ในระหว่างริเริ่ม ประกอบด้วย ESG Meter มาตรวัดความยั่งยืนขององค์กร ESG Footprint รอยเท้าความยั่งยืนในสายอุปทาน ChatESG สื่อความยั่งยืนด้วยฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI)

Social Positive Business
ในปี 2565 ภาคธุรกิจได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจพึ่งพารูปแบบการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business as Usual) ในการเติบโตได้ดังเดิม จำเป็นที่จะต้องมองหาและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจในวิถีปกติใหม่ (Business as New Normal) ที่เอื้อต่อการเติบโตทางธุรกิจในแบบยั่งยืน และสามารถเสริมหนุนการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาแนวคิดในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบธุรกิจ ที่เรียกว่า “ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม” หรือ Social Positive Business ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกไปพร้อมกันกับการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการยกระดับจากการให้ความช่วยเหลือที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นภายหลังกระบวนงานทางธุรกิจ (Contribution) และการเพิ่มระดับการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมในกระบวนงานทางธุรกิจ (Distribution) ไปสู่การใช้ขีดความสามารถหลักทางธุรกิจในการขยายขอบเขตการดำเนินงานไปเป็นกระบวนงานทางธุรกิจในวิถีปกติใหม่ (Extension) ที่ให้ผลบวกต่อสังคมจากธุรกิจแกนหลักของกิจการ

COVID Agenda
ในปี 2563 การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบของสถานการณ์โควิด มิได้ส่งผลเพียงเรื่องสุขภาพของผู้คนในสังคม แต่ยังได้ส่งแรงกระเพื่อมไปยังภาคเศรษฐกิจ ที่เป็นเรื่องปากท้อง กระทบวิถีทำมาหากินของผู้ประกอบการ ตั้งแต่รายใหญ่จนถึงรายย่อย ทั่วทุกหัวระแหง ปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ได้ส่งผลต่อแบบแผนการใช้ชีวิตและการทำงานใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การเที่ยวเตร่ในโลกออนไลน์ (Roam Online) และการซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน (Buy from App) สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำวาระโควิด (COVID Agenda) สำหรับภาคธุรกิจใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด ใน 3 ช่วงตามระยะของสถานการณ์ ได้แก่ กลยุทธ์การรับมือสถานการณ์โดยทันทีหรือในช่วงสั้น (Response) กลยุทธ์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย (Recovery) และกลยุทธ์การปรับตัวสู่ภาวะปกติสืบเนื่องไปในระยะยาว (Resilience) โดยคำนึงถึงประเด็นความยั่งยืน ด้วยการพิจารณาประเมินอุปสงค์ใหม่จากปรากฎการณ์โควิด การรักษาความต่อเนื่องของสายอุปทาน และการเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในห่วงโซ่คุณค่าภายใต้วิถีปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

Thailand Social Business Initiative
ในปี 2559 สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ Yunus Center AIT และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือในการก่อตั้งหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Social Business Initiative (TSBI) เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้าน Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส และได้แปลงสภาพเป็นมูลนิธิยูนุส หรือ Yunus Thailand เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยความเห็นชอบของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส เพื่อมุ่งดำเนินการเผยแพร่หลักปรัชญาธุรกิจเพื่อสังคมของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส ในประเทศไทย และปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เพื่อปรับใช้ในระดับปัจเจก ครัวเรือน องค์กร และระดับชาติ รวมทั้งจะสนับสนุนการก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม และสนับสนุนการเงินให้กับผู้ประกอบการเพื่อสังคม เพื่อเป็นทุนตั้งต้นให้กับแนวคิดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ตลอดจนจะสนับสนุนองค์กรหรือวิสาหกิจ ซึ่งเลือกแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน พนักงานในองค์กร รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ที่เกิดจากการปฏิบัติงานขององค์กร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

Partnership Against Corruption for Thailand
ในปี 2558 สถาบันไทยพัฒน์ และหน่วยร่วมดำเนินงานที่เห็นความสำคัญต่อการต้านทุจริตภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) ได้ริเริ่มเครือข่าย PACT (Partnership Against Corruption for Thailand) สำหรับใช้เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาระดับการต่อต้านทุจริตให้กับองค์กรที่เข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย ด้วยระเบียบวิธีการดำเนินงานที่อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากล ตั้งแต่การให้คำมั่นและจัดทำนโยบายการต่อต้านการทุจริต การวางกระบวนงานสำหรับการต่อต้านการทุจริตโดยเริ่มจากภายในองค์กร ขยายไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจ จนครอบคลุมตลอดถึงห่วงโซ่อุปทาน โดยมีองค์กรสมาชิกเครื่อข่ายกว่า 130 บริษัท รวมทั้งยังได้ร่วมกับบริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำการตรวจประเมินและออกใบรับรองด้านมาตรฐานระบบจัดการในระดับสากล มีสาขาอยู่ใน 140 ประเทศ และมีกลุ่มลูกค้ามากกว่า 400,000 รายทั่วโลก ร่วมกันพัฒนาแนวปฏิบัติและการตรวจสอบการต่อต้านการติดสินบน เพื่อให้การรับรอง “องค์กรปลอดสินบน” (Bribery-free Organization) ตามมาตรฐาน ISO 37001 - Anti-bribery management systems เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

Thai Disaster Resource Network
ในปี 2554 ประเทศไทยต้องประสบกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกินวงกว้างถึง 65 จังหวัด มีตัวเลขความเสียหายเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำแนวคิดที่เกิดจากการขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรม 4 ภาค ปี 2553 ในประเด็นธุรกิจ (CSR) โดยองค์กรภาคีเครือข่าย 64 แห่ง ร่วมกันตกผลึกเป็นแนวทางที่เรียกว่า “การทำงานวิถีกลุ่ม” หรือ Collective Action มาใช้เป็นข้อเสนอการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติ ที่ภาคเอกชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการทำงานในแบบกลุ่มความร่วมมือ และอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ กรณีศึกษา และบทเรียนการจัดการภัยพิบัติในอดีตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเรียนรู้และต่อยอดการทำงาน โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ จากความริเริ่มดังกล่าวได้ถูกแปลงมาเป็นข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติไทยสำหรับภาคเอกชน หรือ Thai DRN เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและทรัพยากรสนับสนุนการทำงานขององค์กรธุรกิจในการรับมือภัยพิบัติ ทั้งการลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ โดยมีชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ปกติ รวมทั้งแนวทางกลยุทธ์การรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิผล ซึ่งต่างจากกลยุทธ์ CSR ที่ใช้ในสถานการณ์ปกติ

Green Ocean Strategy
ในปี 2548 กระแสของกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรียกว่า Blue Ocean ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเสนอกลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน โดยผู้ที่คิดค้น (ชาน คิม) พยายามวางตำแหน่งกลยุทธ์น่านน้ำสีครามนี้ ให้อยู่เหนือกลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจำกัดอยู่กับกรอบการพัฒนาและส่งมอบคุณค่าเพียงเพื่อให้ได้เปรียบ (Beating Value) เหนือคู่แข่งขัน และต้องห้ำหั่นกันในน่านน้ำสีแดง หรือ Red Ocean แต่ด้วยการคำนึงถึงการสร้างตลาดใหม่ หรือการสร้างและยึดอุปสงค์ใหม่เพียงลำพัง ไม่อาจนำไปสู่คำตอบของธุรกิจในบริบทของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ผลิตภัณฑ์สนองตลาดใหม่ที่มีทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ แต่ส่งผลกระทบเสียหายกับสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ เพื่อหวังจับจองผลได้ในทางธุรกิจด้วยกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม แต่ไปสร้างให้เกิดมลพิษหรือความเสื่อมโทรมต่อระบบนิเวศ หรือคุกคามต่อความอุดมสมบูรณ์ของทุนทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่อาจจัดเป็นกลยุทธ์ที่ใช้การได้ของธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางคุณค่าที่พัฒนาขึ้นจากกลยุทธ์ Blue Ocean และกลยุทธ์ที่ใช้รักษาฐานที่มั่นของผลิตภัณฑ์ในแบบ Red Ocean มาสู่กลยุทธ์น่านน้ำสีเขียว หรือ Green Ocean ขึ้นในปี 2553 เพื่อใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value) สำหรับตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร

Thai CSR Network
หลังการแปลงสถานภาพมาเป็นสถาบันไทยพัฒน์ ในปี 2544 การขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) นับเป็นความริเริ่มลำดับถัดมา เรียกว่าเป็นการถ่ายทอดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ภาคปฏิบัติของธุรกิจ ในแบบฉบับหรือด้วยภาษาที่ประเทศตะวันตกใช้ เพราะในมุมมองของสถาบันไทยพัฒน์ เรื่อง CSR หรือที่สถาบันไทยพัฒน์ใช้คำเรียกว่า “บรรษัทบริบาล” สามารถใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการปรับแต่งการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวิถีของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างกลมกลืน สถาบันไทยพัฒน์จึงได้ขยายขอบข่ายงานวิจัยมาสู่การศึกษา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ ในเชิงคุณลักษณะและองค์ประกอบของ CSR ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและใช้ฐานภูมิปัญญาตะวันออก โดยในระยะแรก (2548-2549) ศึกษาร่วมกับองค์กรธุรกิจ 7 แห่ง และในระยะที่สอง (2549-2551) เพิ่มเป็น 13 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนนำมาสู่การก่อตั้งเป็นเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย

Sufficiency Economy Initiative
จากจุดเริ่มต้นของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ก่อตัวขึ้นในรูปของชมรมไทยพัฒน์ ในปี 2542 ก่อนที่จะแปลงสถานภาพมาเป็นสถาบันไทยพัฒน์นั้น งานในระยะแรก เสมือนเป็นการค้นหาตัวตนของกลุ่มผู้ก่อตั้งที่ต้องการพัฒนา “ธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” บนพื้นฐานของการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจึงนับเป็นความริเริ่มแรกที่ถือกำเนิดขึ้น ด้วยการเข้าร่วมทำงานวิจัยในฐานะลูกมือในโครงการวิจัยการเพิ่มผลผลิตชุมชน การวิจัยการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยวิธีปฏิบัติเป็นเลิศและการเปรียบเทียบเพื่อการปรับปรุงและการพัฒนา การวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง จนขยับมาสู่การพัฒนางานวิจัยในฐานะหัวหน้าโครงการในระยะต่อมา (2547-2555) ได้แก่ การศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและเครือข่ายสนับสนุนการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเมือง การศึกษาวิจัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะเครื่องมือสำหรับการวางแผนในภาคธุรกิจเอกชน การสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ และการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ